Relays
รีเลย์ (Relays)
รีเลย์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการตัด-ต่อวงจรคล้ายกับสวิตช์ โดยทั่วไปจะเป็นแบบ Electromagnetic Relay หรือเรียกว่าแบบหน้าสัมผัส ประกอบด้วยชุดหน้าสัมผัส (Contacts) ที่ต่อกับแท่งอาร์เมเจอร์ (Armature) และคอยล์ (Coil) ที่ถูกพันด้วยขดลวด เมื่อมีการจ่ายแรงดันไฟฟ้าให้กับคอยล์ (Energize) จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็ก แท่งอาร์เมเจอร์ที่ต่อกับหน้าสัมผัสจะถูกดูด ทำให้หน้าสัมผัสเปลี่ยนการเชื่อมต่อเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ ปกติเปิด (NO-Normally Open) เป็นปิด หรือปกติปิด (NC-Normally Closed) เป็นเปิด และเมื่อตัดไฟที่จ่ายให้คอยล์ (Deenergize) จะทำให้รีเลย์กลับสู่สถานะปกติ กล่าวคือ หน้าสัมผัสต่างๆ จะกลับสู่สภาวะแรกก่อนการจ่ายไฟด้วยแรงจากสปริง
ยังมีรีเลย์อีกประเภทที่เป็นที่นิยม คือรีเลย์ที่ไม่ใช้หน้าสัมผัสที่เรียกว่าแบบ Solid State Relay ซึ่งใช้เทคโนโลยีของ Semiconductor ทำให้ไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ เพื่อลดเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจากรีเลย์แบบหน้าสัมผัส และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานระยะยาว
ปกติแล้วรีเลย์จะเป็นสวิตช์ตัดต่อวงจรที่ใหญ่กว่าวงจรที่ใช้ควบคุมเสมอ ตัวอย่างเช่น คอยล์ต้องการใช้เพียงระดับมิลลิแอมป์ แต่หน้าสัมผัสสามารถตัดต่อวงจรได้ถึงระดับสิบแอมป์ เป็นต้น สำหรับรีเลย์ที่สามารถควบคุมวงจรที่มีขนาดกระแสสูงๆ จะถูกเรียกว่า คอนแทคเตอร์ (Contactor)
Protection Module
เมื่อหยุดจ่ายแรงดันไฟฟ้ากับกับคอยล์ (Deenergize) สนามแม่เหล็กที่ลดลงกระทันหันจะเหนี่ยวนำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าสูงชั่วขณะ (Voltage Spike) อาจจะมีค่าสูงถึงหลายพันโวลต์และความถี่หลายเมกกะเฮิร์ต ซึ่งจะสามารถทำลาย Transistors หรือ ICs ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆที่ต่ออยู่ในระบบเดียวกับคอยล์ได้ ดังนั้น หากระบบมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงควรใช้ Protection Module หรือที่เรียกว่า Coil Transient Suppression เพื่อลดการเกิด Voltage Spike ดังกล่าว ที่นิยมใช้มี 2 ชนิด ได้แก่
1. Diode Circuit Module: นิยมใช้กับ DC Coil โดยจะเพิ่มระยะเวลาของการ Deenergize ทำให้สนามแม่เหล็กค่อยๆ ลดลง จึงไม่เกิด Voltage Spike
2. Varistor Circuit Module: นิยมใช้กับ AC Coil ใช้หลักการของการจำกัด Voltage Spike และเพิ่มระยะเวลาในการ Deenergize เล็กน้อย